โหลดแอปฯ
ดาวน์โหลด:
สแกนเพื่อดาวน์โหลดแอปวัตสัน
  • google-play.png
  • app-store.png
  • app-gallery.png
ค้นหาร้านค้า บทความน่าอ่าน
Watsons Services
0
ตะกร้า
Share

ฝี เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิด Staphylococcus การติดเชื้อจะเริ่มต้นที่รูขุมขน และลามลงไปในชั้นผิวหนังที่ลึกลงไป ถึงแม้ว่าฝีขนาดเล็ก ๆ จะสามารถดูแลรักษาให้หายเองได้ แต่ถ้าเกิดเป็นฝีที่มีความรุนแรง ก็มีโอกาสเป็นอันตรายถึงชีวิตได้เลย จึงควรดูแลรักษาและป้องกันฝีไว้ตั้งแต่เนิน ๆ วัตสันอยากชวนเพื่อน ๆ ไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับ “ฝี” ว่าฝีเกิดจากอะไรเอาไว้ก่อน เพื่อหาวิธีรักษาฝีด้วยตัวเองและป้องกันได้อย่างถูกวิธี

ฝี คืออะไร

ฝี เป็นโพรงหนอง หรือตุ่มหนองที่มีการติดเชื้อ เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียบริเวณรูขุมขน เริ่มต้นจะมีลักษณะเป็นแผลเล็ก ๆ ที่เจ็บแปลบ และโตขึ้นอย่างรวดเร็วกลายเป็นก้อนขนาดใหญ่ ในช่วงแรกฝีมักมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณครึ่งถึงหนึ่งนิ้ว และจะมีระดับความเจ็บปวดจะเพิ่มขึ้นเมื่อฝีโตขึ้น ซึ่งฝีสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ในร่างกาย ทั้งบนผิวหนัง ในปาก และอวัยวะภายใน

กระบวนการเกิด ฝี

เมื่อร่างกายได้รับเชื้อแบคทีเรีย หรือสิ่งแปลกปลอมจากภายนอก ระบบภูมิคุ้มกันจะตอบสนองโดยการส่งเซลล์เม็ดเลือดขาวไปยังบริเวณที่ติดเชื้อ เซลล์เม็ดเลือดขาวจะพยายามกำจัดเชื้อโรค ด้วยกระบวนการนี้เลยทำให้มีเซลล์เม็ดเลือดขาวบางส่วนตายลง จนเกิดการสะสมของเม็ดเลือดขาวขึ้นภายในเนื้อเยื่อที่ได้รับความเสียหาย กระบวนการนี้อาจทําให้เกิดการอักเสบและเกิดเป็นก้อนขึ้น เมื่อก้อนนั้นมีหนองซึ่งเกิดจากเซลล์เม็ดเลือดขาว เนื้อเยื่อ เชื้อโรคที่ยังมีชีวิตอยู่และตายแล้วรวมทั้งของเหลว ก็จะกลายเป็น “ฝี” ขึ้นมา

ฝีเกิดจากอะไร

สาเหตุที่ทำให้เกิดฝีที่พบบ่อยที่สุด ก็คือ เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิด Staphylococcus จะพบบ่อยมากกว่าเชื้อรา เชื้อไวรัส หรือเชื้อปรสิต ซึ่งการติดเชื้อแบคทีเรียชนิด Staphylococcus จะเริ่มต้นที่รูขุมขน และลามลงไปในชั้นผิวหนังที่ลึกลงไป ทําให้เกิดก้อนหนองหรือฝี

นอกจากนั้นฝียังสามารถเกิดขึ้นได้จากปัจจัยเสี่ยง เช่น แผลติดเชื้อ การรักษาสุขอนามัยที่ไม่ดี โรคประจำตัว เช่น เบาหวาน หรือโรคพิษสุราเรื้อรัง รวมไปถึงฝีอาจเกิดขึ้นได้ง่ายจากรูขุมขนที่อักเสบ โดยการระคายเคืองหรือการออกเหงื่อมากเกินไปสามารถทำให้อาการของฝีแย่ลงได้

ประเภทของฝี

1. ฝีบนผิวหนัง

ฝีผิวหนัง หรือฝีที่เกิดใต้ผิวหนัง เป็นฝีที่พบได้บ่อยและสามารถรักษาได้ง่าย  ฝีผิวหนังจะเป็นที่ก่อตัวขึ้นบริเวณใต้ผิวหนัง โดยบริเวณรากผมหรือขนที่เกิดการติดเชื้อจะพัฒนาจนเกิดฝี เช่น ฝีรักแร้ เกิดขึ้นเมื่อหนองสะสมที่บริเวณรักแร้ ฝีเต้านม เกิดขึ้นในเนื้อเยื่อเต้านม ฝีรอบทวารหนัก เกิดขึ้นใต้ผิวหนังรอบ ๆ ทวารหนักหรือไส้ตรง เป็นต้น

2. ฝีในปาก

ฝีในปาก เป็นฝีที่เกิดในอวัยวะภายในช่องปาก ไม่ว่าจะเป็นฟัน เหงือก หรือลำคอ เช่น ฝีเหงือก เกิดขึ้นในเหงือกโดยไม่ส่งผลต่อฟัน ฝีปลายรากฟัน สาเหตุอาจมาจากการบาดเจ็บที่ฟันหรือฟันผุ ฝีปริทันต์ ฝีที่ส่งผลต่อกระดูก และเนื้อเยื่อที่พยุงฟัน มักเกิดจากโรคเหงือกอักเสบ และยังมีฝีอื่น ๆ ในช่องปากยังรวมถึง ฝีทอนซิล ฝีรอบทอนซิล ฝีหลังคอหอย เป็นต้น

3. ฝีภายในร่างกาย

ฝีภายในร่างกาย เป็นฝีที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยกว่าฝีภายนอก แต่สามารถเกิดขึ้นที่ไขสันหลัง สมอง และอวัยวะอื่น ๆ ซึ่งฝีภายในจะมีการวินิจฉัย และรักษาได้ยากกว่า เช่น ฝีในช่องท้อง เป็นการสะสมของหนองภายในช่องท้อง ฝีไขสันหลัง การสะสมของหนองที่ภายในหรือบริเวณรอบ ๆ ไขสันหลัง ฝีสมอง เป็นฝีที่เกิดขึ้นในสมอง พบได้น้อย แต่มีความร้ายแรงสูง

อาการของโรคฝี

ฝีมีหลายประเภท สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งฝีผิวหนัง ฝีในช่องปาก และฝีนภายใน ซึ่งอาการของฝีก็จะแตกต่างกันไปตามตำแหน่งที่เกิดด้วย เช่น

อาการของฝีผิวหนัง

  • ผิวหนังเป็นตุ่มหนอง
  • ผิวหนังรอบฝีจะแดงบวม
  • ปวด
  • มีไข้
  • หนาวสั่น

อาการของฝีในช่องปาก

  • ปวดฟันอย่างรุนแรงหรือเสียวฟัน
  • อ้าปาก เคี้ยวหรือกลืนลำบาก
  • มีไข้

อาการของฝีในผิวหนังชั้นลึก หรือภายในร่างกาย

  • มีอาการปวดและกดเจ็บ
  • มีไข้หนาวสั่น
  • รู้สึกเหนื่อย
  • เหงื่อออกมาก
  • ไม่อยากอาหาร น้ำหนักลด
ฝีเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิด Staphylococcus

วิธีสังเกต ฝีกับสิวต่างกันยังไง

ลักษณะของฝีที่เกิดขึ้นบนผิวหนังจะเป็นโพรงหนอง หรือตุ่มหนอง มีอาการอักเสบ ทำให้ผิวหนังรอบ ๆ ฝีมีการบวมแดง ถ้าเป็นฝีที่มีขนาดไม่ใหญ่มาก อาจจะดูคล้าย ๆ กับสิว แต่ฝีกับสิวมีความแตกต่างกันอยู่หลายอย่าง สามารถสังเกตได้ ดังนี้

1. ลักษณะของฝี

ฝีจะมีขนาดใหญ่และเติบโตเร็วกว่าสิว และฝีจะมีหนองสะสมอยู่ลึกและมากกว่าสิว ส่วนความเจ็บปวดฝีจะมีความเจ็บปวดมากกว่า และอาจรู้สึกปวดลึก ๆ ในเนื้อเยื่อ

  • การเกิด ฝีจะเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่นำไปสู่การสะสมของหนองภายในเนื้อเยื่อ
  • อาการ ฝีจะมีอาการบวมแดง เจ็บปวดมาก มีหนองสะสมอยู่ลึกลงไปในผิวหนัง มีขนาดใหญ่และเติบโตเร็ว และอาจมีไข้ร่วมด้วย
  • ตำแหน่งที่พบ สามารถเกิดขึ้นได้ทั่วร่างกาย รวมถึงบริเวณที่ไม่มีรูขุมขน

2. ลักษณะของสิว

สิวมีขนาดเล็กและเติบโตช้า สิวจะมีหนองเล็กน้อยที่ผิวหนังไม่มากเท่ากับฝี ส่วนความเจ็บปวดสิวมักมีอาการเจ็บเล็กน้อยหรือไม่มีเลย และสิวจะไม่มีอาการร่วมอย่างเช่นเป็นไข้อีกด้วย

  • การเกิด สิวเกิดจากการอุดตันของรูขุมขนจากน้ำมัน (Sebum) และเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้ว
  • อาการ มีตุ่มเล็ก ๆ หรือหัวหนองที่ผิวหนัง มักไม่เจ็บปวดเท่าฝี ยกเว้นสิวอักเสบ
  • ตำแหน่งที่พบ พบมากในบริเวณที่มีต่อมไขมันมาก เช่น ใบหน้า หลัง และหน้าอก

สาเหตุที่เป็นฝี

1. เชื้อสแตฟฟิโลคอกคัส Staphylococcus Aureus

ฝี สาเหตุส่วนใหญ่มักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย โดยเฉพาะแบคทีเรียชนิด Staphylococcus Aureus เมื่อเข้าสู่ร่างกาย ระบบภูมิคุ้มกันจะส่งเซลล์เม็ดเลือดขาวยับยั้งการติดเชื้อ ทำให้เกิดการอักเสบ และเนื้อเยื่อใกล้เคียงจะตายลง ส่งผลให้เกิดโพรงที่เต็มไปด้วยหนองและเกิดฝีขึ้น

2. ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ

การเกิดฝีมีส่วนเกี่ยวกับเนื่องกับระบบภูมิคุ้มกันในเซลล์เม็ดเลือดขาว สำหรับในคนที่มีระบบภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรง เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ที่รับยากดภูมิคุ้มกัน หรือผู้ติดเชื้อ HIV จึงมีความเสี่ยงต่อการเกิดฝีมากกว่าเมื่อเทียบกับบุคคลทั่วไป เพราะร่างกายมีความสามารถในการต้านเชื้อโรคน้อยกว่า

3. แผลติดเชื้อหรือการรักษาสุขอนามัยที่ไม่ดี

เนื่องจากเนื้อเยื่อภายในร่างกายอาจเกิดการติดเชื้อ ทำให้เชื้อแพร่กระจายสู่เนื้อเยื่ออื่น ๆ ที่ใกล้เคียงผ่านหนอง ของเหลว หรือกระแสเลือดที่ติดเชื้อ เลยทำให้เชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อโรคอื่น ๆ เข้าไปสะสมภายในต่อม ทำให้เกิดการต่อต้านกับระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายจนกลายเป็นฝีขึ้นได้ นอกจากนั้นฝีอาจเกิดขึ้นได้ง่ายจากรูขุมขนที่อักเสบ โดยการระคายเคืองหรือการออกเหงื่อมากเกินไป แล้วมีการรักษาสุขอนามัยที่ไม่ดีสามารถทำให้อาการแย่ลงได้

4. การสัมผัสกับสิ่งสกปรก

สาเหตุที่ทำให้เกิดฝีที่พบบ่อยที่สุด ก็คือเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิด Staphylococcus ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ตามผิวหนังของเรา เมื่อเราไม่ได้ทำความสะอาดมือแล้วไปหยิบจับอาหาร ก็มีโอกาสที่เชื้อตัวนี้จะติดลงไปในอาหารที่ทานและเข้าสู่ร่างกายได้

5. อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่สะอาด

สภาพแวดล้อมที่ไม่สะอาด เป็นศูนย์รวมของสิ่งสกปรก เชื้อโรค ต่าง ๆ มากมาย มีโอกาสทำให้ป่วยได้ง่าย ยิ่งในคนที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ยิ่งมีความเสี่ยงเป็นฝีได้ง่ายขึ้น และเมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่สะอาด ก็มีโอกาสสัมผัสสิ่งสกปรกเข้าปากได้ง่ายขึ้นด้วย มีโอกาสเชื้อแบคทีเรียชนิด Staphylococcus ที่อยู่ตามผิวหนังของเราเข้าสู่ร่างกายได้

6. สวมใส่เสื้อผ้าที่คับแน่นเกินไป

ฝีเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิด Staphylococcus ที่มีอยู่ตามผิวหนังของเราอยู่แล้ว เมื่อใส่ชุดที่คับแน่นเกินไปเลยมีโอกาสทำให้เกิดการเสียดสีได้มากขึ้น และทำให้ผิวเกิดการอักเสบ มีโอกาสที่เชื้อแบคทีเรียชนิด Staphylococcus จะเข้าสู่ร่างกายและทำให้เกิดฝีขึ้นได้

7. การมีโรคผิวหนังเรื้อรัง

ไมใช่แค่สาเหตุของการติดเชื้อติดเชื้อแบคทีเรียชนิด Staphylococcus แต่ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่มีความเสี่ยง อาจทำให้เกิดโอกาสเป็นฝีเพิ่มขึ้นได้ เช่น การมีโรคผิวหนังเรื้อรัง อย่าง โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง หรือโรคสะเก็ดเงิน เป็นต้น

8. การใช้สารเสพติดทางหลอดเลือดดำ

อีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดโอกาสเป็นฝีเพิ่มขึ้นได้ นอกจากการเป็นโรคผิวหนังเรื้อรังแล้ว ยังมีเรื่องของการใช้สารเสพติดทางหลอดเลือดดำด้วย เพราะพฤติกรรมเสี่ยงแบบนี้จะเป็นการเพิ่มโอกาสการติดเชื้อเข้าสู่ร่างกายมากขึ้น

9. มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน หรือโรคพิษสุราเรื้อรัง

อีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดฝีได้ง่ายขึ้น คือคนที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน หรือโรคพิษสุราเรื้อรัง เนื่องจากการเกิดฝีมักเกี่ยวเนื่องกับระบบภูมิคุ้มกันในเซลล์เม็ดเลือดขาว ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ร่างกายต้านเชื้อโรคได้น้อยกว่า จึงมีความเสี่ยงต่อการเกิดฝีมากกว่าเมื่อเทียบกับบุคคลทั่วไป

การตรวจวินิจฉัยโรคฝี

การตรวจวินิจฉัยโรคฝี สามารถทำได้ด้วยการตรวจร่างกาย เพื่อตรวจดูฝีบนผิวหนัง โดยแพทย์อาจเก็บหนองไปตรวจสอบเพาะเชื้อเพื่อระบุชนิดของแบคทีเรียและวางแผนวิธีการรักษาที่เหมาะสม หรือหากคาดเดาได้ว่าอาจจะเป็นฝีภายในร่างกาย จะมีการตรวจวินิจฉัยด้วยภาพถ่าย เช่น การอัลตราซาวนด์ CT scan และ MRI เพื่อตรวจฝีในอวัยวะภายใน

การประคบอุ่นเป็นวิธีรักษาฝีด้วยตัวเอง

การรักษาฝี

1. วิธีรักษาฝีด้วยตัวเอง

สำหรับฝีขนาดเล็ก หรือฝีที่ใกล้ผิวหนัง อาจจะสามารถหายไปได้เอง และสามารถรักษาอาการเบื้องต้น ด้วยการประคบอุ่นสามารถช่วยให้ฝีระบายหนองออกมาได้เอง แต่ไม่ควรพยายามบีบหรือเจาะฝี เพราะอาจทำให้การติดเชื้อแพร่กระจาย

2. การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ

ในบางกรณีที่มีอาการอักเสบ เจ็บปวด มีหนองมาก การรักษาอาจต้องมีการระบายหนองร่วมด้วย ในการรักษาฝีบนผิวหนัง แพทย์อาจสั่งยาปฏิชีวนะเพื่อกำจัดแบคทีเรีย และให้รับประทานยาปฏิชีวนะ พร้อมกับการผ่าตัดเพื่อระบายหนอง

3. การระบายหนอง (Incision and Drainage)

การรักษาด้วยการระบายหนอง แพทย์จะใช้ยาชาเฉพาะที่ จากนั้นทำการกรีดฝีเพื่อระบายหนอง และนำเนื้อเยื่อที่ตายแล้วออก และขณะที่ดูแลรักษาแผลระบายหนองด้วยตัวเอง ควรตรวจดูแผลและเปลี่ยนผ้าก๊อสถ้าเกิดการเปียกชุ่ม เมื่อแผลจะเริ่มตกสะเก็ด เป็นสัญญาณว่าแผลกำลังจะหาย และมักหายสนิทภายใน 2 สัปดาห์

4. การรักษาฝี ในช่องปาก

การรักษาฝี ในช่องปาก เป็นสิ่งที่จำเป็นมากเนื่องจากเชื้อโรคสามารถแพร่กระจายไปยังเนื้อเยื่อรอบ ๆ ทําให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายต่อชีวิตได้ โดยทันตแพทย์จะทำการระบายหนองออก ซึ่งอาจต้องทำการรักษารากฟัน หรือถอนฟันที่ได้รับผลกระทบไปด้วย และอาจสั่งยาปฏิชีวนะไปรักษาเพิ่มเติม

5. การรักษาฝีภายใน

การรักษาฝีภายใน แพทย์อาจทำการดูดหนองด้วยเข็ม โดยใช้การนำทางด้วยอัลตราซาวนด์ หรือซีทีสแกน หรืออาจจะต้องทำการผ่าตัดในบางกรณี ซึ่งจะทำการกรีดแผลเล็ก ๆ บนผิวหนังเพื่อใส่สายสวนสำหรับการระบายหนองเข้าไปในถุงรองรับด้านนอก โดยอาจติดถุงไว้กับตัวผู้ป่วยเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์หรือมากกว่านั้นเพื่อให้หนองที่ค้างอยู่ไหลออกมาได้หมด

6. การใช้สิทธิบัตรทองในการรักษาฝีที่ร้านยา

สำหรับผู้ที่มีอาการฝีที่ไม่รุนแรง หรือมีฝีหนองที่ผิวหนัง สามารถใช้สิทธิบัตรทอง เพื่อรับบริการที่ร้านยาที่เข้าร่วม “โครงการร้านยาคุณภาพของฉัน ให้บริการดูแลอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย 32 อาการ” ซึ่งจะมีเภสัชกรคอยให้คำปรึกษา และจ่ายยาที่จำเป็น เช่น ยาฆ่าเชื้อ ยาแก้ปวดหรือยาทาฝีเบื้องต้น โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

ฝีขนาดเล็กหรือฝีที่ใกล้ผิวหนังอาจสามารถหายไปได้เอง

การป้องกันการเกิดฝี

1. การป้องกันฝีผิวหนัง

การป้องกันฝีผิวหนัง สามารถทำได้ด้วยการรักษาความสะอาดของผิวหนังและแผล ให้แห้งและสะอาดอยู่เสมอ นอกจากนั้นควรหมั่นล้างมือบ่อย ๆ ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดตัว มีดโกน หรือแปรงสีฟัน รวมไปถึงหลีกเลี่ยงการสร้างแผลบริเวณผิวหนัง พร้อมกับรักษาสุขภาพด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกาย และงดสูบบุหรี่

2. การป้องกันฝีในช่องปาก

การป้องกันฝีในช่องปาก ก็สามารถทำได้ง่าย ๆ ด้วยการรักษาสุขภาพช่องปาก ด้วยการแปรงฟันอย่างน้อย 2 ครั้งต่อวัน คือช่วงเช้าและก่อนเข้านอน เพราะระหว่างการนอนหลับเป็นช่วงเวลาที่เชื้อโรค หรือแบคทีเรียในช่องปากมีการเจริญเติบโตมากที่สุด รวมถึงใช้ไหมขัดฟันให้สะอาด และเข้าพบทันตแพทย์เป็นประจำทุก ๆ 6 เดือน

3. การป้องกันฝีภายใน

สำหรับฝีภายในร่างกาย มักกิดจากภาวะแทรกซ้อนของโรคอื่น ๆ การรักษาและป้องกันโรคพื้นฐานจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ควรดูแลและใส่ใจเป็นพิเศษ ช่น การรักษาสุขภาพให้แข็งแรง หรือตรวจสุขภาพเป็นประจำ เพื่อป้องกันโอกาสเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดฝีได้

การป้องกันฝีผิวหนังทำได้ด้วยการรักษาความสะอาด

ควรไปพบแพทย์เมื่อใด

ถ้าเกิดฝีไม่หายเองภายใน 2-3 วัน หรือหากมีไช้ และมีอาการปวดมากขึ้น ควรเข้ารับการรักษากับแพทย์ทันที เพื่อป้องกันไม่ให้ฝีแตกและเชื้อโรคแพร่กระจาย 

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับฝี

1. ฝีแตกต่างจากฝีฝักบัว และฝีอื่นอย่างไร?

ฝี (Abscess) จะเป็นการสะสมของหนองในเนื้อเยื่อ ส่วนฝีฝักบัว (Carbuncle) เป็นฝีที่เกิดจากการรวมตัวของฝีเล็ก ๆ หลายฝี ทำให้เกิดฝีที่มีขนาดใหญ่มีรูเปิดหลายรู

2. การบีบหรือกดฝีเป็นอันตรายหรือไม่?

การบีบหรือกดฝีเป็นอันตรายอย่างมาก เมื่อเกิดฝีไม่ควรบีบหรือกดฝีเด็ดขาด เพราะอาจทำให้เชื้อแบคทีเรียแพร่กระจายไปยังบริเวณอื่น หรือเข้าสู่กระแสเลือดได้ ซึ่งอาจทำให้เกิดการติดเชื้อที่รุนแรงขึ้น ควรให้แพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญเพื่อรักษาตามอาการต่อไป

3. ฝี ที่ไม่ได้รับการรักษาจากแพทย์สามารถหายเองได้หรือไม่?

สำหรับฝีขนาดเล็กอาการมักจะดีขึ้นและฝีจะหายไปเอง อาจปล่อยให้หายไปเองตามธรรมชาติได้ แต่ถ้าหากเป็นฝีขนาดใหญ่หรือฝีที่อวัยวะภายในจำเป็นต้องได้รับการรักษา หากไม่รักษาฝีอาจจะแตก นำไปสู่การแพร่กระจายของเชื้อ ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

4. ฝีที่อวัยวะภายในอันตรายแค่ไหน?

ฝีที่อวัยวะภายใน เช่น ฝีในสมอง หรือฝีในช่องท้อง ถือเป็นภาวะที่อันตราย และต้องเข้ารับการรักษาจากแพทย์ทันที หากไม่ได้รับการรักษา อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงหรือเสียชีวิตได้

5. ควรดูแลตนเองอย่างไรหลังได้รับการรักษาฝี?

หลังจากได้รับการรักษาฝีแล้ว ควรรวจเช็กแผลทุกวัน ทำแผล และเปลี่ยนผ้าพันแผลตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด และถ้าเกิดมีอาการผิดปกติ เช่น ไข้ บวมแดง หรือปวดมากขึ้น ควรพบแพทย์ทันที

ทำความเข้าใจเรื่องของ “ฝี” มาแล้ว ได้รู้แล้วว่าฝี มีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรีย เข้าสู่ร่างกายทำให้เกิดเป็นตุ่มหนองขึ้นมา นอกจากการดูแลภูมิคุ้มกันของร่างกายให้แข็งแรง ควรจะดูแลรักษาสุขอนามัยของตัวเองให้สะอาดอยู่เสมอด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดฝีขึ้น

ข้อมูลอ้างอิง
https://www.pobpad.com/%E0%B8%9D%E0%B8%B5/%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%95%E0%B8%B8%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%9D%E0%B8%B5
https://hdmall.co.th/blog/c/abscess-symptoms-treatment-prevention/
https://www.exta.co.th/what-is-an-abscess-causes-symptoms-treatment-prevention/
https://www.medparkhospital.com/disease-and-treatment/abscess#causes
https://www.bumrungrad.com/th/treatments/abscess-incision-and-drainage

คลิกอ่านคอนเท้นอื่นๆที่น่าสนใจ

Previous

15 ไอเดียอัพลุคคูล แต่งตัวไปคอนเสิร์ตแบบคนมีสไตล์

Next

ปาร์ตี้ฉ่ำแต่พรุ่งนี้ต้องทำงาน กินอะไรแก้แฮงค์ พร้อมวิธีแก้แฮงค์ปวดหัวคลื่นไส้

Related Topics
Share
WHAT’S HOT
  1. 10 ร้านเสื้อผ้าในไอจีราคาถูก หลักร้อย ไม่ตกเทรนด์
  2. 12 สกินแคร์จาก CICA ส่วนผสมช่วยลดสิว ผิวระคายเคือง
  3. 10 สถานที่ขอพรเรื่องความรัก ช่วยคนโสดไม่ให้นก
  4. 15 ครีมบำรุงผิวขาว และครีมทาผิวขาวยี่ห้อไหนดี 2025
  5. แต่งหน้าเป๊ะปังด้วยเมคอัพ ชิ้นที่สอง1บาท
  6. สีเล็บมงคล 2568 เปลี่ยนสีเล็บให้ปังตามวันเกิด พร้อมสวยเฮงต้อนรับปี!
  7. 15 ไอเดียอัพลุคคูล แต่งตัวไปคอนเสิร์ตแบบคนมีสไตล์
  8. ปากแห้ง เกิดจากอะไร? แห้งแตกแบบไหนควรรีบไปหาหมอ
  9. สิวหัวช้าง สิวหัวช้างไม่มีหัวเกิดจากอะไร รักษาอย่างไร พร้อมตัวช่วยรักษาสิวหัวช้าง
  10. ฝีเกิดจากอะไร กี่วันหาย พร้อมวิธีรักษาฝีด้วยตัวเอง
  11. ปาร์ตี้ฉ่ำแต่พรุ่งนี้ต้องทำงาน กินอะไรแก้แฮงค์ พร้อมวิธีแก้แฮงค์ปวดหัวคลื่นไส้
*/?>